หน้าแรก ข้อมูลเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของอินเดีย
กฏระเบียบด้านศุลกากรและมาตรฐาน
การนำเข้าสินค้าทุน / เครื่องจักร
  1. สินค้าต้องห้าม
    • สินค้าห้ามนำเข้า เช่น ยาเสพติด สื่อลามกอนาจาร ของลอกเลียนแบบ โบราณวัตถุ เครื่องบินจำลองที่มีการควบคุมโดยคลื่นวิทยุความถี่สูง ซึ่งมีผลต่อการทำงานของหน่วยความปลอดภัยในอินเดีย สินค้าที่ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาดของอินเดีย หากผู้ใดฝ่าฝืนนำสินค้าต้องห้ามเข้ามาในอินเดียจะต้องโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรของอินเดีย ค.ศ. 1962
    • สินค้ามีข้อจำกัด สามารถนำเข้าได้หากมีใบอนุญาตในสินค้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อาวุธปืน นก พืชและผลิตภัณฑ์จากการเกษตร ยารักษาโรค เงินตราที่เกินกว่ากำหนด (เงินตราต่างประเทศที่เกิน 10,000 เหรียญสหรัฐฯ) 
    • สินค้านำเข้าได้โดยบริษัทการค้าผูกขาดของรัฐบาล เช่น สินค้าปิโตรเลียม สินค้าเกษตร แต่ต้องได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรีในเรื่องเวลาและจำนวน รายการสินค้าห้ามนำเข้า สินค้ามีข้อจำกัด และสินค้านำเข้าอินเดียที่ต้องได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษหรือต้องมีใบอนุญาตนำเข้าจากทางการอินเดีย สามารถเรียกดู้ได้จากเว็บไซต์ของ Directorate General of Foreign Trade, Ministry of Commerce and Industry, รัฐบาลอินเดียที่ https://dgft.gov.in/CP/
       
  2. มาตรฐานสินค้า
    หน่วยงาน Bureau of Indian Standard (BIS) เป็นหน่วนงานหลักของอินเดียที่หน้าที่ตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมคล้ายกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ของไทย โดยใช้แนวทางตามมาตรฐานสากล เช่น ISO, HACCP ทั้งสินค้าในประเทศ และสินค้านำเข้า โดยมีการรับรองผลิตภัณฑ์ ด้วยการยื่นขอเครื่องหมายมาตรฐาน (ISI Mark) ซึ่งเป็นทั้งมาตรฐานบังคับและมาตรฐานสมัครใจ

    ข้อมูลเกี่ยวกับรายการสินค้าที่เข้าข่ายมาตรฐานบังคับ รวมทั้งสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท อาทิ เตารีด วิทยุ เครื่องทำน้ำอุ่น เตาอบ ขั้นตอนการยื่นใบสมัครขอ ISI Mark การรับรองเครื่องหมาย ECOMARK สำหรับผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรายชื่อหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าทั่วประเทศ สามารถเรียกดูได้จากเว็บไซต์ของ BIS ที่ https://bis.gov.in/

    นอกจากนี้ หน่วยงาน Food Safety and Standards authority of India (FSSAI), Ministry of Health & Family Welfare รัฐบาลอินเดีย ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย Food Safety and Standard Act ค.ศ. 2006 มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานสำหรับสินค้าอาหาร และกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับในเรื่องขั้นตอนการผลิต การแปรรูป การกระจาย การค้าขาย และการนำเข้าสินค้าอาหาร
     
  3. ขั้นตอนการนำอาหารเข้าประเทศอินเดีย
    • ขั้นตอนที่ 1 การตรวจ / ปล่อยและพิธีการศุลกากร (Custom Clearance)
      ผู้นำเข้าจะต้องทำหนังสือมอบอำนาจ (Authorized Letter) ให้กับตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากร (Customs Handling Agent) และให้ทำหนังสือถึง Food Safety and Standards Authority of India (FSSAI) หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ พร้อมจัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า เพื่อทำการประเมินภาษี
    • ขั้นตอนที่ 2 ยื่นขอใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย(FSSAI Clearance)
      ตัวแทน (Customs Handling Agent) จะยื่นใบขอตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารผ่านระบบ  การตรวจผ่านผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า (Food Import Clearance System) ของหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย หลังจากผ่านการตรวจผ่านเรียบร้อยแล้วจะได้รับใบรับรองไม่คัดค้าน (No Objection Certificate : NOC)
    • ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสอบและการสุ่มตัวอย่างของผลิตภัณฑ์อาหาร (Inspection and Sampling of the Consignment)
      ถ้าหากผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว เจ้าของผลิตภัณฑ์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมกาตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตามจำนวนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มตัวอย่าง โดยเจ้าหน้าที่กำหนดวันและเวลาสำหรับการตรวจสอบทางกายภาพของผลิตภัณฑ์อาหาร
    • ขั้นตอนที่ 4 การได้รับการอนุมัติของผลิตภัณฑ์อาหารเข้ามาในอินเดีย (Approval of Food Product into India) 
      เจ้าหน้าที่จาก FSSAI จะออกใบรับรอง NOC และใบ NCC ซึ่งรับรองว่าผลิตภัณฑ์อาหารผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว และจะได้รับอนุญาตให้นำผลิตภัณฑ์ทั้งหมดออกจากคลังสินค้าศุลกากรได้ 
       
  4. ระบบภาษีสินค้าและบริการ Goods and Service Tax (GST อินเดียประกาศใช้ระบบภาษี GST อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 GST เป็นภาษีที่เพิ่มขึ้นเฉพาะในแต่ละขั้นตอนของการซื้อขาย ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายจะจ่ายเพียงภาษีที่เรียกเก็บจากผู้จำหน่าย รายสุดท้าย และได้รับการยกเว้นภาษีจากทุก ๆ ขั้นตอนการซื้อขาย โดยภาษีที่จะถูกรวมในระบบภาษี GST ใหม่ ได้แก่ ภาษี Central Excise ภาษี Service Tax ภาษี CVD (Countervailing Duty) ภาษี SAD (Special Additional Duty) ภาษี CST และภาษี VAT

    ภาษีหลัก ๆ ในระบบภาษี GST จะประกอบด้วย ภาษี Central Goods and Services Tax (CGST) และภาษี Integrated Goods and Services Tax (IGST) จัดเก็บโดยรัฐบาลกลาง ภาษี State Goods and Services Tax (SGST) จัดเก็บโดยรัฐบาลท้องถิ่น

    โดยหากทำธุรกิจภายในรัฐเดียวกันเสียภาษีเฉพาะภาษี SGST และภาษี CGST ทดแทนการจัดเก็บในระบบเดิม คือ ภาษี VAT ภาษีสรรพสามิต และภาษี Service Tax และหากทำธุรกิจข้ามรัฐ เสียภาษีเฉพาะภาษี IGST ซึ่งจะทดแทนการจัดเก็บภาษีระบบเดิม คือ ภาษี Central Sales Tax (CST) ภาษีสรรพสามิตและภาษี Service Tax
     
  5. ภาษีศุลกากร
    การเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้านำเข้าจะเป็นไปตามกฎหมาย Custom Tariff Act ค.ศ. 1975 และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ The Central Board of Excise Custom (CBEC) ทั้งนี้ สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางมีอัตราภาษีค่อนข้างต่ำ อยู่ระหว่างร้อยละ 2-20 สินค้าประเภทอาหารจะมีอัตราภาษีระหว่างร้อยละ 10-70 ขณะที่สินค้าประเภทสุราและไวน์อัตราภาษีจะสูง โดยอยู่ระหว่างร้อยละ 100-150 โดยการดำเนินการด้านพิธีศุลกากร ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องชำระภาษีศุลกากรภายใน 2 วัน นับตั้งแต่วันทีได้รับ Bill of Entry ยกเว้นวันหยุดราชการ หากเกินกำหนดจะต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี


การส่งออก 
ภาษีสรรพสามิตส่วนกลาง เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าที่ผลิตหรือประกอบในอินเดีย ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า


ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อินเดียเป็นแบบกึ่งคงที่ คือ เก็บร้อยละ 25 ในกรณีที่มีรายได้ไม่ถึง 2,500 ล้านรูปี (1,250 ล้านบาท) และเก็บร้อยละ 30 ในกรณีที่มีรายได้มากกว่า 2,500 ล้านรูปีขึ้นไป ภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทต่างชาติร้อยละ 40


การโอนเงินกลับประเทศ
นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอินเดีย เมื่อได้กำไรจากการลงทุนสามารถโอนเงินลงทุนและผลกำไรออกนอกประเทศได้โดยเสรี โดยสามารถโอนเงินผ่านทางสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารอินเดีย ธนาคารต่างชาติ ธนาคารที่มีสาขาทั้งไทยและอินเดีย และ Authorized Dealer ตัวแทนสถาบันทางการเงิน ซึ่งหน่วยงานทางสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องได้รับอนุญาตการจัดตั้งสถาบันการเงินจากธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India: RBI) โดยมีระเบียบข้อกำหนดและขั้นตอนการโอนเงินกลับประเทศตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการเงินตราต่างประเทศของอินเดีย ค.ศ. 1999 (Foreign Exchange Management Act 1999) ดังนี้
  1. การถือเงินตราออกนอกประเทศเกินกว่า 25,000 เหรียญสหรัฐฯต่อคนจะต้องได้รับการอนุญาตจากธนาคารกลางก่อน
  2. รายได้จากผลประกอบการในอินเดีย สามารถโอนเงินรายได้กลับประเทศ โดยจะต้องเป็นรายได้สุทธิ ที่คงเหลือจากการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการต่างชาติร้อยละ 40 ให้กับทางการอินเดียเรียบร้อยแล้ว
  3. รายได้จากการทำงานในอินเดีย สามารถโอนเงินรายได้กลับประเทศ โดยจะต้องเป็นรายได้สุทธิที่คงเหลือจากการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 30 ให้กับทางการอินเดียเรียบร้อยแล้ว
  4. หากนักลงทุนต่างชาติกู้เงินในอินเดียมาลงทุน นักลงทุนจะต้องคืนเงินกู้ก่อน กล่าวคือเงินที่สามารถโอนเงินกลับได้นั้น จะต้องเป็นเงินสุทธิที่คงเหลือจากการหักดอกเบี้ยรวมเงินต้นของปีนั้นและอัตราภาษีตามที่ กำหนดให้กับทางการอินเดียเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนการโอนเงินกลับประเทศต้องกรอกคำร้องและเอกสารแนบตามที่แต่ละธนาคารกำหนด


ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า
  1. อินเดียจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงและอากรอื่นในการนำเข้าสินค้า ทำให้อัตราภาษีที่ผู้นำเข้าต้องชำระโดยรวมอยู่ในอัตราสูง และเสียโอกาสในการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า ถึงแม้อินเดียจะปรับลดอัตราภาษีส่วนใหญ่ ลงเหลือร้อยละ 7.52 (ยกเว้นสินค้าเกษตร อาหาร ยาสูบ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์) แต่เก็บอากรเพิ่มเติมร้อยละ 4 สำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท และยังคงมาตรการที่มิใช่ภาษีที่สำคัญ คือ มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-Dumping) และมาตรการ Safeguard ในกลุ่มสินค้าเกษตรและสิ่งทอ
  2. การนำเข้า-ส่งออกสินค้าบางประเภท จะต้องทำการซื้อขายผ่านตัวแทนของรัฐ (State Trading Enterprise) ซึ่งรัฐจะผูกขาดการค้า เช่น ข้าว ข้าวสาลี เนื้อมะพร้าวแห้ง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปุ๋ย และต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าสำหรับบางสินค้า เช่น พืชน้ำมันและเมล็ด และธัญพืช เป็นต้น
  3. อินเดียสงวนสินค้าประมาณ 600 รายการ สำหรับอุตสาหกรรมรายย่อยในประเทศ เช่น ในกลุ่มสิ่งทอและของเล่น
  4. โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ท่าเรือ สนามบิน ระบบไฟฟ้าและโทรคมนาคม ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร และเป็นอุปสรรคต่อการขนถ่ายสินค้า และเพิ่มต้นทุนสินค้าทางอ้อม รวมทั้ง พิธีการทางศุลกากรที่ยุ่งยาก และล่าช้าในการดำเนินการด้านเอกสาร
  5. ถึงแม้อินเดียมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังขาดการบังคับใช้และการปราบปรามจริงจัง จึงยังคงมีการลอกเลียนแบบสินค้าอย่างกว้างมาก ดังนั้น สินค้าไทยที่จะวางจำหน่ายในตลาดอินเดียควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมาก

แหล่งข้อมูล : กระทรวงพาณิชย์, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน


ข้อมูลเพิ่มเติม
  • ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบและขั้นตอนการค้าขายสินค้ากับอินเดีย และนโยบายการค้าระหว่างประเทศของอินเดียสามารถเรียกดู้ได้จากเว็บไซต์ของ Directorate General of Foreign Trade, Ministry of Commerce and Industry, รัฐบาลอินเดียที่ https://dgft.gov.in/CP/         
  • ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านศุลกากรและมาตรฐาน รวมทั้งอัตราภาษี GST ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีศุลกากร สามารถเรียกรู้ได้จากเว็บไซต์ของ Central Board of Indirect Taxes Exercise and Customs (CBIC) รัฐบาลอินเดียที่ http:// www.cbic.gov.in/
  • ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งรายการสินค้าสำหรับมาตรฐานบังคับและมาตรฐานสมัครใจ และขั้นตอนการยื่นเรื่องขอรับ ISI Mark สามารถเรียกดูได้จากเว็บไซต์ของ Bureau of Indian Standards (BIS) ที่ https://bis.gov.in/
  • ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบและมาตรฐานการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสู่อินเดียสามารถเรียกดู้ได้จากเว็บไซต์ของ Food Safety and Standards authority of India (FSSAI), Ministry of Health & Family Welfare รัฐบาลอินเดียที่ https://www.fssai.gov.in/ 
 
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
กรกฎาคม 2563